สังเวชนียสถาน หมายถึงสถานที่ทำให้เกิดสังเวชเกี่ยวกับความเป็นไปในชีวิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๔ แห่ง ดังที่พระอานนท์ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าตอนใกล้จะปรินิพพานว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนพวกภิกษุที่อยู่จำพรรษาในทิศทั้งหลายต่างพากันมาเฝ้าพระตถาคต พวกข้าพระองค์ย่อมได้เห็น ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้เจริญเหล่านั้น แต่เมื่อกาลล่วงไปแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้าพระองค์จักไม่ได้เห็น จักไม่ได้เข้าไปนั่งใกล้ภิกษุผู้เจริญใจเหล่านั้นอีก”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูก่อนอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเป็นที่ควรของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยระลึกว่า
– พระตถาคตประสูติในที่นี้
– พระตถาคตตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้
– พระตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้วในที่นี้
– พระตถาคต เสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้
สถานที่ประสูติ ชื่อว่า ลุมพินี สถานที่ตรัสรู้ ชื่อว่า พุทธคยา สถานที่แสดงธรรมจักร (ปฐมเทศนา) ชื่อว่า สารนาถ สถานที่ปริพิพพาน ชื่อว่า กุสินารา
สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติที่ลุมพินีนั้น ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล อีก ๓ แห่งอยู่ในประเทศอินเดีย สถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้ ย่อมทำให้เกิดความสังเวช เมี่อได้พบเห็นสถานที่เหล่านั้นว่า พระพุทธองค์ได้ประสูติ ณ ที่นี้ ได้ตรัสรู้ ณ ที่นี้ ได้แสดงปฐมเทศนา ณ ที่นี้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ที่นี้ บัดนี้คงเหลือแต่สถานที่ และคุณงามความดีอันมีต่อชาวโลกอย่างมากมาย สุดที่จะพรรณนาให้สุดสิ้นได้ พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระอานนท์ต่อไปว่า ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังเจดีย์สถานที่เหล่านั้นแล้วทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนั้น มีความสำคัญที่แสดงความเป็นมหาบุรุษผู้ประเสริฐที่ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่าทรงบันลือสีหนาทเปล่งอาสภิวาจา อันองจายตสเวลาประสูติที่ลุมพินีว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส
อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิ ทานิ ปุนพฺภโวติ
เราเป็นผู้เลิศของโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก
ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดอีกมิได้มี
ในวันเพ็ญเดือนวิสาขมาส พระมหาบุรุษอาศัยจตุตถฌานเป็นบาท เจริญวิปัสสนายังกิเลสทั้งปวงให้สิ้นไป ด้วยมรรคทั้ง ๔ ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค ทรงแจ้งแทงตลอดพระสัพพัญญตญาณ ที่พุทธคยา พร้อมเปล่งอุทานว่า
อเนกชาติสํสารํ สนฺธาวิสฺสํ อนิพฺพิสํ
คหการํ คเวสนฺโต ทุกฺขา ชาติ ปุนปฺปุนํ
คหการก ทิฏโฐสิ ปุนเคหํ น กาหสิ
สพฺพา เต ผาสุกา ภคฺคา คหกูฏํ วิสงฺขตํ
วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ ตณฺหานํ ขยมชฺฌคาติ
แปลความว่า
เราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือน คือ ตัญหา เมื่อไม่พบ
ได้ท่องเที่ยวไปตลอดชาติ สงสารมิใช่น้อย การเกิดบ่อยๆเป็นทุกข์
ดูก่อนนายช่างผู้สร้างเรือน คือตัณหาเราพบท่านแล้ว
ท่านจักสร้างเรือนแก่เราอีกไม่ได้แล้ว
โครงเรือนของท่านเราหักเสียแล้ว
ยอดเรือนคืออวิชชา เราก็กำจัดเสียแล้ว
จิตเราถึงวิสังขาร คือพระนิพพาน อันเป็นที่สิ้นตัณหาแล้วดังนี้
ต่อมาอีก ๒ เดือน ในวันเพ็ญ อาสาฬหมาส ทรงแสดงธรรมจักร กัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนา แก่ปัญจวัคคีย์ที่สารนาถ ทรงรับสั่งกับพระปัญจวัคคีย์ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพคือ
การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในการทั้งหลาย
เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน เป็นความลำบาก
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น
ตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำดวงตาให้เกิด
ย่อมเป็นไปด้วยความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ
ปัญญาเห็นชอบ๑ ความดำริชอบ๑ เจรจาชอบ๑ การงานชอบ๑
เลี้ยงชีวิตชอบ๑ ความเพียรชอบ๑ ความระลึกชอบ๑ ความตั้งจิตชอบ๑
นี้คือปฏิปทาสายกลางนั้น
ครั้นแล้วจึงตรัส อริยสัจ ๔ มีทุกขอริยสัจเป็นต้น พระพุทธองค์ทรงจาริกแสดงธรรม ไปในที่ต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา พระพุทธองค์ทรงประชวรแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ที่เมืองกุสินารานั้นเอง พระพุทธองค์ได้กล่าวปัจฉิมพุทธพจน์ ดังปรากฎในปรินิพพานสูตร มีพระบาลีแสดงว่า
หนฺท ทานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิโว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราตถาคต ขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า
รูปนามทั้งหลายที่เรียกว่าสังขาร นั้น มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
เธอทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
จากหนังสือ ตามรอยบาทพุทธองค์ (หน้า ๗๕ –๗๗)
โดย อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี
พุทธคยา ถือเป็นหนึ่งในพุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นสถานที่บังเกิดขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธทั่วโลกต่างมุ่งหวังที่จะได้เดินทางไปกราบบูชา ณ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ ถือได้ว่า พุทธคยาเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วโลกและเป็นจุดเริ่มต้นแห่งบุญ จาริก ณ แดนพุทธภูมิ
การเดินทางไปกราบนมัสการสถานที่ตรัสรู้ธรรมอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงชื่อว่า เป็นมงคลอันยิ่งใหญ่ สำหรับชาวพุทธทั้งหลาย