ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ยุคโบราณ

จากการค้นคว้าทางโบราณคดีพบว่ามีผู้อาศัยอยู่บนหมู่เกาะญี่ปุ่นกว่า 100,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินทวีปเอเชีย คนโบราณที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะญี่ปุ่นในยุคหินได้หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ และเก็บของป่ามาเป็นอาหาร อีกทั้งเมื่อประมาณ 30,000 กว่าปีก่อนได้มีวัฒนธรรมการทำหินเป็นมีด และการประดิษฐ์อาวุธเช่นหอกเข้ามาจากภาคพื้นทวีปมาสู่ดินแดนญี่ปุ่น ยุคนี้ยังคงดำรงเรื่อยมากระทั่งสิ้นสุดยุคน้ำแข็งสุดท้ายที่ได้สิ้นสุดลงในช่วงประมาณ 12,000 – 11,000 ปี ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์ทั่วโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ดินแดนญี่ปุ่นเว้นแต่หมู่เกาะทางตะวันตกเฉียงใต้จึงสิ้นสุดยุคหินเข้าสู่ยุคโจมง

ต่อมาในยุคโจมง (縄文時代, โจมงจิได) ในช่วงประมาณ 10,000 ปีที่แล้วได้มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินด้วยความประณีต มีการพัฒนาวิธีการล่าสัตว์โดยใช้คันธนูและลูกธนู ตลอดจนมีการผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่อาหารและเก็บรักษาอาหาร ตามรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาโจมงที่มีลวดลายเป็นเชือก

ต่อมาเมื่อประมาณ 500 ถึง 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 3 ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุคยะโยอิ (弥生時代, ยะโยะอิจิได)คำว่า ยะโยอิ นั้นได้มาจากแขวงหนึ่งในเขตบุงเกียว กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นสถานที่แรกที่ค้นพบร่องรอยเกี่ยวกับยุคนี้ ช่วงต้นของยุคยะโยอิปรากฏให้เห็นถึงการที่ได้เรียนรู้ถึงการเกษตร เช่นการปลูกข้าว การทำเครื่องใช้โลหะ และการเคารพบูชาภูติผีปีศาจ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่เข้ามาทางเกาหลีและแผ่นดินใหญ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยเหล็กที่ใช้ในการเพาะปลูกในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ใช้ดาบที่ทำด้วยทองแดงและใช้กระจกในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดแบ่งงานทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ปกครองดินแดนและผู้อยู่ใต้การปกครองกว้างขึ้น ในช่วงนี้รัฐเล็กๆ จำนวนมากจึงได้ก่อตัวขึ้นทั่วประเทศ

การกล่าวถึงญี่ปุ่นครั้งแรกปรากฏขึ้นในบันทึกของราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น โฮ่วฮั่นชู (จีนตัวเต็ม: 後漢書; จีนตัวย่อ: 后汉书) ในปี 57 ก่อนคริสต์กาล บันทึกได้กล่าวถึงชาววะ (倭) ที่ข้ามทะเลมานั้นประกอบไปด้วย 100 กว่าเผ่า หนังสือเว่ย (魏書/魏书) ที่เขียนขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ยังได้กล่าวอีกว่าประเทศดังกล่าวเป็นการรวมตัวของรัฐเล็กๆ กว่า 30 รัฐ ที่มีผู้ปกครองเป็นสตรีชื่อว่า ฮิมิโกะ แห่งยะมะไทโคะกุ (邪馬台国の卑弥呼) แหล่งโยะชิโนะงะริ (吉野ヶ里遺跡) เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ของยุคยะโยอิที่ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู

การขุดค้นปรากฏให้เห็นถึงส่วนที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกสร้างขึ้นในช่วง 400 ปีก่อน ค.ศ.วัตถุส่วนมากที่ขุดค้นพบนั้นเป็นวัตถุที่ทำจากโลหะสัมฤทธิ์ รวมทั้งสิ่งที่นำเข้ามาจากจีน

ยุคกลาง

ในศตวรรษที่ 4 กลุ่มผู้มีความเข้มแข็งทางการเมืองซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ที่ราบ ยะมะโตะ(ใกล้จังหวัดนาราในปัจจุบัน) ได้มีอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนถึงศตวรรษที่ 6 มีการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมขนานใหญ่ และวัฒนธรรมจีนรวมทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางเกาหลี ถึงปลายศตวรรษที่ 4 ได้มีการติดต่อระหว่างญี่ปุ่นกับอาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลี ศิลปะ อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทอผ้า งานโลหะ การฟอกหนัง และการต่อเรือ

ยุคอะซึกะ (飛鳥時代, อะซึกะจิได) คือยุคที่ศูนย์กลางของระบอบกษัตริย์ ยะมะโตะ ตั้งอยู่ในอะซึกะ จังหวัดนะระ ดำรงอยู่ตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 8 เจ้าชาย โชโตะกุ ผู้สำเร็จราชกาลแทนจักรพรรดินีซุยโกะทรงส่งคณะราชทูต “เคนซุยชิ” ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงได้รับนวัตกรรมใหม่ๆจากแผ่นดินใหญ่มาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงตรา กฎหมาย 17 มาตรา ที่มีใจความสำคัญเกี่ยวกับการจัดระบบของการเมืองการปกครอง และความสงบสุขในบ้านเมืองอีกด้วย และได้สนับสนุนพระพุทธศาสนาอย่างมาก ถึงกับสร้างวัดหลายแห่งในญี่ปุ่น เช่น วัดชิเทนโนจิ (ปัจจุบันอยู่จังหวัดโอซะกะ) วัดโฮลิวจิ(ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนะระ) เป็นต้น

ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคนะระในปี พ.ศ. 1253 (ค.ศ. 710) เมื่อเมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่นคือ เฮโจเกียว ได้รับการสถาปนาขึ้น โดยสร้างตามแบบเมืองฉางอาน(เมืองซีอานในปัจจุบัน)เมืองหลวงของจีนในขณะนั้น มีราชวงศ์ของญี่ปุ่นเป็นผู้ปกครอง ราชวงศ์ญี่ปุ่นประทับอยู่ที่เมืองนะระมาโดยตลอด และขยายอำนาจไปทั่วประเทศทีละน้อยจนรวมประเทศเป็นปึกแผ่นได้ (ยกเว้นโอะกินะวะ และฮอกไกโด) หากแต่ว่าระบอบการปกครองในยุคนี้ใช้ตามแนวคิดแบบจีน ซึ่งเมื่อมาใช้กับญี่ปุ่นแล้ว ไม่เหมาะสมนัก และเกิดผลกระทบจากความไม่เหมาะสมนั้น ผลสุดท้ายคือ ต้องขึ้นภาษีประชาชนอย่างหนักทำให้เฮโจเกียวเป็นเมืองหลวงได้ไม่นานนัก และเพื่อหนีอิทธิพลของพระในศาสนาพุทธที่มีอำนาจมาก เมืองหลวงเฮโจเกียวจึงถูกย้ายไปยัง นะงะโอะกะเกียว ในปี พ.ศ. 1327 (ค.ศ. 784) และต่อมาที่ เฮอังเกียว ในปี พ.ศ. 1337 (ค.ศ. 794)

ญี่ปุ่นได้สร้างอารยธรรมใหม่ขึ้นพร้อมๆ กับการล่มสลายของนะระ โดยยุคถัดมาคือ ยุคเฮอัง (平安時代, เฮอังจิได) เมื่อเมืองหลวงใหม่ซึ่งเลียนแบบเมืองหลวงของประเทศจีน “เฮอังเกียว” ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 1337 (ค.ศ. 794) การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมือง เฮอังเกียว นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยเฮอังซึ่งดำรงอยู่ยาวนาน รุ่งเรือง และยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยหนึ่งของการพัฒนาการในประเทศญี่ปุ่น การติดต่อกับประเทศจีนหยุดชะงักลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 และอารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะและรูปแบบเป็นของตนเอง สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การประดิษฐ์ตัวอักษร ฮิรางานะ ซี่งนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่นการนำมาเขียนในวรรณคดีเรื่อง นิทานเกนจิ(源氏物語) นับเป็นการเปิดทางให้แก่งานเขียนที่มีรูปแบบเป็นของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายแทนถ้อยคำสำนวนที่ยืมมาจากภาษาจีน

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 อำนาจการปกครองบ้านเมืองได้หลุดไปอยู่ในมือของตระกูลฟุจิวะระ และได้กลายเป็นสิ่งล่อใจสำหรับตระกูลนักรบที่เป็นปรปักษ์ต่อกันในช่วงปลายยุค ได้แก่ ตระกูลมินะโมะโตะ และไทระ ซึ่งเป็นตระกูลที่สืบทอดเชื้อสายมาจากจักรพรรดิองค์ก่อนๆทั้งสองตระกูล ตระกูลมินะโมะโตะ และ ไทระได้ต่อสู้ในการรบที่โด่งดังที่สุด และมีความรุนแรงมากในยุคกลางอันวุ่นวายสับสนของญี่ปุ่น ในที่สุดตระกูลมินะโมะโตะเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยได้ทำลายล้างตระกูลไทระจนพินาศในศึก ดันโนะอุระ (Battle of Dannoura) อันเกริกก้องและเลื่องลือในปี พ.ศ. 1728 (ค.ศ. 1185) ซึ่งเป็นจุดจบของยุคเฮอัง

เมืองหลวงเฮอังเกียว หรือเกียวโตะยังคงมีฐานะเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นมาอีกกว่า 600 ปี กระทั่งสิ้นสุดยุคเอะโดะในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) และย้ายเมืองหลวงมาที่โตเกียวในอีก 2 ปีต่อมา

ถัดจากยุคเฮอัง คือ ยุคคะมะกุระ (鎌倉時代, คะมะกุระจิได) เริ่มต้นในปี พ.ศ. 1728 (ค.ศ. 1185) ต่อมาในปี พ.ศ. 1735 (ค.ศ. 1192) โยะริโตะโมะ หัวหน้าตระกูลมินะโมะโตะที่เป็นผู้ชนะสงครามได้สถาปนาระบบโชกุน หรือรัฐบาลทหารขึ้นที่เมือง คะมะกุระ ใกล้กับนครหลวงโตเกียวในปัจจุบัน และยึดอำนาจบริหารบางประการที่เคยเป็นอำนาจของจักรพรรดิในกรุงเกียวโตะ เพื่อต้านสิ่งที่ถือว่าเป็นความเสื่อมของเกียวโตะที่ได้ฝักใฝ่ในสันติภาพ โชกุนที่เมืองคะมะกุระได้สนับสนุนความมัธยัสถ์อดออม และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ตลอดจนความมีระเบียบวินัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะฟื้นฟูอำนาจการควบคุมทั่วทั้งแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป สมัยคะมะกุระ ซึ่งเป็นชื่อเรียกยุคของระบบโชกุนของโยะริโตะโมะ เป็นยุคที่มีแนวคิดในเรื่องของความกล้าหาญและรักเกียรติยศ (bushido) ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของซามูไร

ในปี พ.ศ. 1761 (ค.ศ. 1213) อำนาจที่แท้จริงได้เปลี่ยนมือจากตระกูลมินาโมะโตะไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยะริโตะโมะ โดยเป็นผู้สำเร็จราชการให้ โชกุน ตระกูลโฮโจค้ำจุนรัฐบาลที่เมืองคะมะกุระไว้ได้จนถึง พ.ศ. 1876 (ค.ศ. 1333) ในระหว่างนั้นกองทัพมองโกลได้บุกตอนเหนือของเกาะคิวชูถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 1817 (ค.ศ. 1274) และ พ.ศ. 1824 (ค.ศ. 1281) ถึงแม้ว่าจะมีอาวุธที่ด้อยกว่าแต่นักรบญี่ปุ่นก็สามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ และป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานบุกลึกเข้าไปตอนในของประเทศ หลังจากที่กองทัพเรือส่วนใหญ่ของชนเผ่ามองโกลประสบความเสียหายอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่นที่ญี่ปุ่นเรียกว่า “คะมิคะเซ่” ในการบุกญี่ปุ่นทั้งสองครั้ง กองทัพมองโกลจึงได้ถอยทัพไปจากญี่ปุ่น และอำนาจของค่ายทหารคะมะกุระก็หมดลงในปีเดียวกันนั้นเอง

ถัดจากยุคคะมะกุระ เข้าสู่ยุคการฟื้นฟูอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 1876 จนถึง พ.ศ. 1879 แล้วต่อมาได้เข้าสู่ ยุคมุโระมะจิ (室町時代, มุโระมะจิ จิได) ตระกูลอะชิคะงะ ได้ขึ้นเป็นตระกูลโชกุน โดยมีโชกุนพระองค์แรกคือ อะชิคะงะ ทะกะอุจิ มี บะกุฮุ (幕府) หรือค่ายทหารอยู่ที่ มุโระมะจิ ในกรุงเกียวโต ยุคนี้มีการพัฒนาระบบชลประทาน การเพาะปลูก และเกิดการเติบโตของกิจการค้าขายและบริการ ในยุคนี้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัดของ ลัทธิบุชิโด แสดงให้ปรากฏทั้งในด้านความงามทางศิลปะและศาสนา และมีอิทธิพลลึกล้ำต่อศิลปะของประเทศ ลักษณะเด่นซึ่งคงอยู่แม้ในปัจจุบันนี้คือลักษณะของความอดกลั้น และความเรียบง่าย ยุคนี้ยังเป็นยุคแรกที่ชาวตะวันตกกลุ่มแรก คือ โปรตุเกสได้เดินทางเข้าสู่ญี่ปุ่น

ในปี พ.ศ. 1984 (ค.ศ. 1441) เกิดการลอบสังหารโชกุนขึ้น ทำให้การปกครองระบอบโชกุนเสื่อมถอยลง เกิดเป็นสงครามกลางเมืองขึ้น จนญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคย่อยๆ เรียกว่า ยุคเซงโงะกุ ที่มีความหมายว่ายุคสงครามกลางเมือง ในปี พ.ศ. 2111 โนะบุนะงะ โอะดะ ซึ่งอยู่ในสถานะเจ้าเมืองได้เป็นใหญ่ในบริเวณตอนกลางของเกาะฮอนชู และต้องการรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ในปีเดียวกันนั้นเขาจึงเริ่มกำจัดอิทธิพลอำนาจของมุโระมะจิ และสร้างอารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทน ในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นคงแก่ตนด้วย ในปี พ.ศ. 2116 อารยธรรมมุโระมะจิหายไป อารยธรรมอะซุจิโมโมะยะมะขึ้นมาแทนที่

ญี่ปุ่นเข้าสู่ ยุคอะซุจิโมโมะยะมะ (安土桃山時代, อะซุจิโมะโมะยะมะจิได) ในปี พ.ศ. 2116 (ค.ศ. 1573) เป็นยุคสั้นๆ ที่มีผู้สถาปนาคือ โนะบุนะงะ โอะดะ เขามีเจตนารมณ์ที่จะรวมประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่เป็นปึกแผ่นให้อยู่ในผู้นำเพียงคนเดียว แต่ในปี พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) โนะบุนะงะ โอะดะ เสียชีวิตลงเสียก่อน โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ นายพลนายหนึ่งของเขาจึงได้เป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อมา และสามารถรวบรวบประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2133 (ค.ศ. 1590) แต่ได้ไม่นาน สุขภาพที่ไม่ดีและอำนาจต่างๆ ในตัวฮิเดะโยะชิได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากการยกทัพบุกเกาหลีที่ไม่ประสบความสำเร็จ และปัญหารอบตัวที่รอบล้อมตัวเขาอยู่ เจ้าเมือง 5 เมืองจึงตั้งตนเป็นใหญ่และเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันอีกครั้ง สงครามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600) โดยเจ้าเมือง โทะกุงะวะ อิเอะยะสึ เป็นผู้ชนะอิเอะยะสึตั้งตนเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นทั้งประเทศที่มีอำนาจอย่างแท้จริง โดยขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนที่เมืองเอโดะ ล้มล้างอารยธรรมโมโมะยะมะ และสร้างอารยธรรมใหม่ขึ้น ทำให้ยุคอะซุจิโมโมะยะมะจบลงใน ค.ศ. 1603 และในปีเดียวกันนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคเอะโดะ (江戸時代, เอะโดะจิได) ซึ่งเป็นจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

โชกุนอิเอะยะสึ ได้สร้างแบบแผนแทบจะทุกแง่มุมของวิถีชีวิตของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางการเมืองและสังคม ให้เป็นแบบอย่างต่อมาอีก 265 ปี การที่ โชกุนโทะกุงะวะ ดำเนินการปิดประเทศจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639) นับเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาเสถียรภาพของโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่อิเอะยะสึได้ก่อตั้งขึ้น เพราะการหลั่งไหลเข้ามาของชาวยุโรปมีผลกระทบต่อญี่ปุ่นอย่างมาก คณะผู้สอนศาสนาทำให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนศาสนากันมาก โดยเฉพาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โชกุนตระหนักดีว่า ศาสนาคริสต์อาจจะมีอานุภาพในการทำลายทัดเทียมกับอาวุธปืนที่เข้ามาในญี่ปุ่น ในที่สุดได้มีการสั่งห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น และโชกุนโทะกุงะวะได้ออกคำสั่งห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ที่ เกาะเดะจิมะในอ่าวนะงะซะกิ ตลอดจนชาวจีนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นะงะซะกิ และทูตจากราชวงศ์ลีของประเทศเกาหลีที่เดินทางมาญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว

เป็นเวลา 250 ปี ที่ญี่ปุ่นได้ติดต่อกับโลกภายนอกผ่านคนเหล่านี้เท่านั้น นักวิชาการญี่ปุ่นได้รับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์ตะวันตก และวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ โดยผ่านทางกลุ่มพ่อค้าที่ เมืองเดะจิมะ ในระหว่างระยะเวลาแห่งการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอันยาวนานของประเทศ

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เปิดประเทศสู่โลกภายนอก อีกทั้งโครงสร้างทางสังคมและการเมืองอันเข้มงวดที่ อิเอะยะสึ เป็นผู้กำหนดขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่น เริ่มที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ในปี พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) พลเรือจัตวา แมทธิว ซี เพอร์รี แห่งสหรัฐอเมริกา นำกองเรือ 4 ลำเข้ามาในอ่าวโตเกียว ในปีถัดมาเขาประสบความสำเร็จ ในการชักจูงให้ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับประเทศรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นการเปิดประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง สี่ปีต่อมาสนธิสัญญาเหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสนธิสัญญาทางการค้า และญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับประเทศฝรั่งเศสด้วย ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ เพิ่มความกดดันแห่งกระแสทางสังคมและการเมือง ซึ่งกัดกร่อนรากฐานของโครงสร้างระบบศักดินาทีละน้อย ความวุ่นวายครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นกินเวลาประมาณทศวรรษ จนกระทั่งระบบศักดินาของ โชกุนโทะกุงะวะ ได้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) และได้ถวายอำนาจอธิปไตยทั้งมวลคืนพระจักรพรรดิในการปฏิรูป เมจิ (Meiji Restoration) ในปีต่อมา

ยุคใหม่

การปฏิรูปเมจิ ทำให้ยุคเอะโดะสิ้นสุดใน พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) และปีเดียวกันนั้นนับเป็นการเริ่มต้นของ ยุคเมจิ เป็นสมัยที่เด่นที่สุดสมัยหนึ่งในบรรดาประวัติศาสตร์ของประเทศ ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นได้บรรลุความสำเร็จในการพัฒนาประเทศโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ กล่าวคือการสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยอุตสาหกรรม พัฒนาสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของสังคมแบบใหม่ ทั้งที่ประเทศตะวันตกต้องใช้เวลาพัฒนานานนับศตวรรษในช่วงปีแรกๆ ของการครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทางย้ายเมืองหลวงจากกรุงเกียวโตไปอยู่ที่เมืองเอโดะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลระบบศักดินาที่ผ่านมา และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นโตเกียว ซึ่งแปลว่า “เมืองหลวงตะวันออก” มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนตั้งคณะรัฐมนตรี และสถาบันนิติบัญญัติระบบสองสภา ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบเก่าของสมัยศักดินา ญี่ปุ่นทั้งประเทศทุ่มเทพลังงานและความกระตือรือร้นในการศึกษาและรับอารยธรรมตะวันตกมาใช้

การปฏิรูปเมจิเหมือนกับการทลายของเขื่อนที่กอปรด้วยพลังและแรงผลักดันสะสมมานับศตวรรษ ต่างชาติเองรู้สึกถึงความรุนแรงและความตื่นตัวที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังเหล่านี้ออกมาในฉับพลัน ก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ. 1894-95 ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น ผลของสงครามคือญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาจากจีน สิบปีต่อมาญี่ปุ่นประสบชัยชนะอีกครั้งหนึ่งในสงคราม รัสเซีย – ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1904-05 และยึดได้ซัคคาลินตอนใต้ ซึ่งยกให้รัสเซียเมื่อปี ค.ศ. 1875 เพื่อแลกกับเกาะคูริล

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ทรงปกครองประเทศด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสร้างสรรค์ การปกครองของพระองค์ช่วยนำประเทศให้ผ่านพ้นช่วงทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง พระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1912 ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามโลกครั้งนี้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก เพราะญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงครามโลกเนื่องจากได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับประเทศอังกฤษไว้เมื่อปี ค.ศ. 1902 สมเด็จพระจักรพรรดิไทโช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ใน ค.ศ. 1912 นับเป็นปีสิ้นสุดของยุคเมจิ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคไทโช จักรพรรดิไทโชเสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1926 และสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ต่อ นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโชวะ

ยุคโชวะได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง อุตสาหกรรมของประเทศยังคงเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และดูเหมือนว่าการเมืองของญี่ปุ่นหยั่งรากลึกด้วยการปกครองระบบสภา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มั่นคง ความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองของประชาชนได้ลดน้อยลง หลังจากมีการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง พวกหัวรุนแรงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในช่วงนี้ และกลุ่มทหารฉวยโอกาสที่เปิดให้พวกตน ในช่วงเวลาอันสับสนวุ่นวาย อิทธิพลของพรรคการเมืองค่อยๆ ลดน้อยลง หลังจากเหตุการณ์ลูกั๋วเฉียว (Lugouqiao Incident) ซึ่งก่อให้เกิดสงครามกับจีน พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกบีบให้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความร่วมมือในยามสงคราม ในที่สุดได้มีการยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และตั้งพรรคการเมืองแห่งชาติขึ้นมาแทน เนื่องจากสภาไดเอ็ตถูกลดบทบาทจนไม่ต่างจากตรายางเท่าใดนัก ทำให้ไม่มีการคัดค้านจากทางสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับกระแสเหตุการณ์ทั้งหลายที่นำไปสู่การเกิดสงครามแปซิฟิกในปี ค.ศ. 1941

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นซึ่งเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ยอมรับข้อตกลงยอมแพ้สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร และประชาชนได้วางอาวุธตามพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นเวลานานกว่า 6 ปี หลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนใหญ่ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้อำนาจของฝ่ายยึดครองซึ่งนำโดย พลเอกดักลาส แม็คอาเธอร์

ในปี ค.ศ. 1951 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ซานฟรานซิสโก ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นได้กลับคืนสู่ประชาคมนานาชาติในฐานะที่เป็นรัฐปฏิรูป จากการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้สิทธิในการบริหารกิจการต่างประเทศคืนมา หลังจากที่ได้ถูกตัดสิทธิไประหว่างการถูกยึดครอง งานเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งที่จะต้องดำเนินการหลังสงครามโลก ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีหลายฝ่ายระหว่างประเทศ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดเสรีของโลกได้เป็นอย่างดี เพียง 20 ปีหลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวจากความพินาศอันเกิดจากสงครามได้เกือบจะสมบูรณ์ มหกรรมกีฬาโอลิมปิค เมื่อปี ค.ศ. 1964 ที่โตเกียว เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นใหม่ของชาวญี่ปุ่น และบทบาทของประเทศเพิ่มขึ้นในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศเมื่อพิจารณาถึงกำลังของประเทศ และความคาดหวังของประเทศอื่นๆ ต่อบทบาทระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นนี้ ดังนั้นจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีท่าทีที่แน่ชัดในการขยายความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลก

ใน ค.ศ. 1989 เป็นปีสิ้นสุดของยุคโชวะ เมื่อจักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จสวรรคต จักรพรรดิอะกิฮิโตะ ขึ้นครองราชย์ต่อ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ยุคเฮเซ หมายถึง “การได้มาซึ่งสันติภาพ” และญี่ปุ่นคงอยู่ในยุคเฮเซจนถึงปัจจุบัน

ทริปแนะนำเที่ยวญี่ปุ่น
ย้อนกลับ